วันศุกร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2551

การแนะนำสั่งสอนผู้ใต้บังคับบัญชา
แนะ -ให้ทำดี ให้ถูกต้องตามหลักวิชา ตามหลักกฎหมาย และศีลธรรม
นำ - โดยทำดีให้ดู เป็นแบบอย่างที่ดี
สั่ง - ให้ปฏิบัติหน้าที่ความรับผิดชอบ ด้วยวิธีการที่ถูกต้อง เหมาะสม และเป็นธรรม
สอน - ให้เรียนรู้ และปฏิบัติงานให้ได้ผลดี มีประสิทธิภาพ
อบ - ให้หอม คือ ให้เพิ่มพูนวิชาความรู้ คู่คุณธรรม
รม - ให้แห้ง คือ ให้ย่าง หรือเผากิเลส โดยให้ศึกษาอบรมกาย วาจา และใจ โดยการปฏิบัติธรรม ได้แก่ ทาน กุศล ศีลกุศล ภาวนากุศล และ/หรือ ศีล สมาธิ ปัญญา อันมีรายละเอียดอยู่ในอริยมรรคมีองค์ ๘ เพื่อให้ลดมานะ ละทิฏฐิ และเพื่อกำจัดกิเลส ตัณหา อุปาทาน ให้เบาบางลง ให้เจริญอยู่แต่คุณความดี มีศีล มีธรรม
บ่ม - นิสัย - ให้ตั้งอยู่แต่ในคุณความดี หลีกหนีความชั่ว คือ ไม่ให้มีจิตสันดานโน้มเอียงไปข้างความชั่ว ที่มักชอบประพฤติผิดศีล ผิดธรรม และติดอยู่ในอบายมุข ๖ อย่าง ได้แก่
1. เสพและติดสิ่งเสพติด มึนเมา เป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
2. หมกมุ่นในกาม สำส่อนในกาม ไม่สำรวมในกาม
3. ติดเที่ยวกลางคืน ติดดูการละเล่น
4. เล่นและติดการพนัน
5. คบคนชั่ว คือ คนไม่ดีที่มักประพฤติผิดศีล ผิดธรรม และ/หรือ คนที่ติดอยู่ในอบายมุข
6. เกียจคร้านในการงาน

วันพฤหัสบดีที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2551

คุณธรรมสำหรับผู้บริหาร

ผู้บริหารเป็นผู้มีมนุษย์สัมพันธ์ (Human Relation) ที่ดี ด้วยคุณธรรม คือ พรหมวิหารธรรม และสังคหวัตถุ เป็นต้น
พรหมวิหารธรรม คุณธรรมเครื่องอยู่ของผู้ใหญ่ ๔ ประการ คือ
1.เมตตา คือ ความรัก ปรารถนาที่จะให้ผู้อื่นอยู่ดีมีสุข
2.กรุณา คือ ความสงสาร ปรารถนาให้ผู้มีทุกข์ เดือดร้อน ให้พ้นทุกข์
3.มุทิตา คือ ความพลอยยินดี ที่ผู้อื่นได้ดี ไม่คิดอิจฉาริษยากัน
4.อุเบกขา คือ ความวางเฉย ไม่ยินดียินร้าย เมื่อผู้อื่นถึงซึ่งความวิบัติ โดยที่เราเองก็ช่วยอะไรไม่ได้ ก็ต้องปล่อยวางใจของเราเองด้วยปัญญา ตามพระพุทธพจน์ว่า “สัตว์โลก เป็นไปตามกรรม”
พรหมวิหาร ๔ ประการนี้ เป็นคุณธรรมเครื่องอยู่ของผู้ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้เป็นหัวหน้า ผู้นำคน ให้เป็นคนเที่ยงธรรม รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ให้รู้จักเห็นใจ รู้จักเข้าใจ เอ็นดูผู้น้อย หรือผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ให้ “รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา” ก็จะยังความน่าเคารพนับถือ เลื่อมใส ศรัทธา ให้เกิดแก่หมู่ชนทุกฝ่ายได้
สังคหวัตถุธรรม ๔ ประการ
1.ทาน รู้จักให้ปัน สิ่งของ ของตน แก่ผู้อื่นที่ควรให้ปัน
2.ปิยวาจา รู้จักเจรจาอ่อนหวาน คือ กล่าวแต่วาจา ที่สุภาพ อ่อนโยน
3.อัตถจริยา รู้จักประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น
4.สมานัตตตา เป็นผู้มีตนเสมอ คือ ไม่ถือตัวเย่อหยิ่ง จองหอง อวดดี